วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2559

Chapter: 9 ไม่เคย ไม่เคย ไม่เคย


 ไม่เคย ไม่เคย ไม่เคย
xดเนอะสัx อยู่ป.4 อูยังเล่นหมากเก็บอยู่เลย
          
          “ตู้หูวววววว รวมพลคนแก่แดดนี่หว่า ป.4 มีอะไรให้ทำเยอะแยะ พี่ว่าน้องกลับไปอ่านหนังสือหรือไม่ก็ตั้งใจเรียนเถอะนะ ป.4ยังเล็กเกินโชว์ไปก็ไม่แข็งหรอก เพื่อพี่เห็นยังบอกสมรรถภาพทางเพศอูคงเสื่อมเมื่อเห็นรูปน้องหวะ พี่นี่ลั่นเลย
          
         “อีกะxรี่
          
           ตัวอย่างคอมเมนท์รุนแรงในเพจเฟสบุ๊ค ฟาด้า อ่าห้าา'ซึ่งเป็นเพจที่มีการโพสรูปของ แก๊งกุหลาบไฟ
           
           ที่มาของแก๊งกุหลาบไฟนี้มาจากการที่มีผู้ใช้เฟสบุ๊กชื่อว่า ฟาด้า อ่าฮ้าาาา ซึ่งเป็นเพียงเด็กป.4 ได้โพสต์รูปภาพของตัวเองและเพื่อนอีก 4 คน โดยใช้ชื่อว่า แก๊งกุหลาบไฟ พร้อมคำอธิบายภาพที่เมื่อเหล่านักท่องโซเชียลพบเห็น แล้วเกิดความรู้สึกว่าโตเกินวัย ไม่ดีไม่งาม และไม่เหมาะสม จึงทำการแพร่รูปภาพนี้ออกไปจนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย จนตัวเด็กต้องปิดเฟซบุ๊คลง
            
           หากคำวิจารณ์ต่างๆ นานาที่ว่านี้มีจุดประสงค์เพื่อติติงพฤติกรรมที่โตเกินวัยของเด็กก็คงจะเกิดประโยชน์ต่อตัวเด็กเป็นแน่
            
           เพียงแต่คำวิจารณ์ที่ว่านี้ไม่ได้มีไว้เพื่อให้นำไปแก้ไข แต่เต็มไปด้วยคำหยาบคายที่ใช่ด่าทอเด็ก  โดยไม่สนเลยว่า เด็กที่ว่านี้เป็นเพียงเด็กป.4 ที่เติบโตมากับยุคดิจิตอลเท่านั้น
            
           “ถ้าเลี้ยงเด็กด้วยคำตำหนิติเตียน เขาจะเป็นคนล้มเหลว ถ้าเลี้ยงเด็กด้วยความก้าวร้าว เขาจะเป็นคนกร้าวแข็ง ถ้าเลี้ยงเด็กด้วยความเย้ยหยัน เขาจะเป็นคนขลาดอาย ถ้าเลี้ยงเด็กด้วยความละอาย เขาจะเป็นคนขี้ระแวง…”
             
           ส่วนหนึ่งในบทกลอน Children Learn What They Live  ของ โดโรธี แอล. นอลเต้ นักเขียนชาวอเมริกันและผู้เชียวชาญด้านการให้คำปรึกษาครอบครัว 
           
           จากบทกลอนนี้ยืนยันให้เห็นว่า การที่ใช้คำพูดรุนแรงในการว่ากล่าวตักเตือนเด็ก ไปจนถึงการใช้คำหยาบคายเพื่อสั่งสอนเขา ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น กลับเป็นสิ่งที่ฝังลึกลงไปในหัวใจเด็กจนเกิดเป็นบาดแผลที่พวกเขาอาจไม่มีวันลืม เพราะบางคนก็ใช้คำพูดรุนแรงเพื่อความสะใจของตนเอง โดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะเกิดในวันข้างหน้า
           
           ในส่วนของบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ควรคิดพิจารณาให้มาก เพราะการใช้คำพูดรุนแรงนอกจากจะไม่ช่วยให้เด็กแก้ไขในสิ่งที่ตนเชื่อผิดแล้ว ในอนาคตเด็กอาจกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีปมฝังใจบางอย่างไปจนถึงกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้คำพูดรุนแรงต่อผู้อื่น กลายเป็นวังวนการทำร้ายผู้อื่นด้วยคำพูดไม่จบไม่สิ้น
           
           นอกจากคำพูดที่รุนแรงของคนในสังคมแล้ว บุคคลที่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุดอย่างครอบครัว ก็ต้องระวังเรื่องคำพูดรุนแรงต่อเด็กเช่นกัน เพราะหลายครั้งคนในครอบครัวมักใช้คำพูดรุนแรงต่อเด็กโดยไม่ตั้งใจแม้จะพูดด้วยความหวังดีก็ตาม
           
           โดยเรื่องความรุนแรงทางคำพูดนี้ องค์กรยูนิเซฟได้จัดทำโครงการ เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ หยุดใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านความรุนแรงต่อเด็ก โดยได้ให้ข้อมูลเรื่องการลงโทษเด็กว่า การการลงโทษด้วยการใช้คำพูดด้านลบ เช่น ตำหนิหรือแสดงความไม่ยอมรับ การลงโทษแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นการสร้างวินัยเชิงลบ เพราะวิธีการเช่นนี้ก็ทำให้เด็กเกิดความโกรธ ก้าวร้าว หรือเสียความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง  
            
           คนที่น่าสงสารที่สุดก็คือ เด็ก

            
           เขาเติบโตมาในโลกดิจิตอล แต่กลับถูกสอนและตีกรอบให้อยู่ในยุคดั้งเดิมของผู้ใหญ่ ที่เด็กไม่เคยรับรู้ ไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยสัมผัส

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559

Chapter: 8 บันเทิงลงบันได


บันเทิงลงบันได
          
         สำนักข่าวเอเชียน คอเรสพอนเดนท์ (Asian Correspondent) สื่อจากประเทศอังกฤษ วิจารณ์เนื้อหาและฉากข่มขืนที่ไม่เหมาะสมของละครไทย แต่แปลกที่ละครเหล่านั้น กลับได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศเรา
            
            เอเชียน คอเรสพอนเดนท์ กล่าวถึงโครงเรื่องของไม่สิ้นไร้ไฟสวาท โดยเป็นเรื่องราวที่เกิดจากพ่อของพระเอกฆ่าตัวตาย ทำให้พระเอกตัดสินใจแก้แค้นครอบครัวนางเอกที่เป็นต้นเหตุให้พ่อฆ่าตัวตายด้วยการจับตัวนางเอกมาเป็นทาส ข่มขืนจนตั้งครรภ์ และนางเอกก็พยายามทำแท้งจนเกือบจะเสียชีวิต

            หากเกิดในโลกของความจริง ผู้ชายคนนี้ควรถูกแจ้งจับ แต่ในโลกของละครไทย เขากลับกลายเป็นพระเอกที่นางเอกตกหลุมรักในที่สุด สะท้อนให้เห็นการทำงานในฐานะสื่อประเภทหนึ่งของวงการละครไทยที่ล้มเหลว ซ้ำร้าย ยังเป็นการทำลายวัฒนธรรม แล้วยกย่องเชิดชูการข่มขืน การกดขี่เพศหญิงกลายๆ
            
            ในขณะเดียวกัน จ๋า ยศสินี ณ นคร ผู้จัดละครของช่อง 3 ก็ได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า บางครั้งฉากข่มขืนก็สำคัญกับละคร เพราะละครเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ถ้าไม่มีความขัดแย้งก็ไม่มีเรื่องราว เธอเองก็พยายามเลี่ยงฉากข่มขืนแล้ว แต่บางครั้งฉากเหล่านี้ก็จำเป็นต่อการดำเนินเรื่อง
            
            โดยจากการสำรวจ ศึกษาอิทธิพลของการชมรายการโทรทัศน์กับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในกลุ่มคนดู ศึกษาเด็ก เยาวชน และประชาชน" ในปี 2551 พบว่า เด็ก 2-6 ปี 10.3% เด็ก 7-12 ปี 6.4% เด็ก 13-19 ปี 21.1% ชอบฉากข่มขืนมากถึงมากที่สุด เด็ก 2-6 ปี 10.9% เด็ก 7-12 ปี 19.9% เด็ก 13-19 ปี 20.2% รวมถึงคนอายุ 20 ขึ้นไป จึงบอกว่าการข่มขืนเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่ยอมรับได้ และเด็กๆบางส่วนบอกว่าอยากเป็นพระเอกจะได้ข่มขืนคนอื่นได้
            
           ยังมีละครอีกหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงคำว่า ละครไทยคู่กับฉากข่มขืน ได้อย่างชัดแจ้ง อย่างละครเรื่องดาวพระศุกร์ ฉากที่ดาวพระศุกร์จะโดนข่มขืน รถไม่ติดเลย แฟนละครจ่อคิวรอดูฉากนี้ หรือแม้แต่เรื่องจำเลยรักที่พระเอกข่มขืนนางเอกก็จบลงด้วยการรักกัน ซึ่งละครเหล่านี้ มีเรตติ้งที่สูงมาก กลายเป็นว่าคนไทยนิยมละครแบบนี้ 

           เท่ากับว่าจริงๆ แล้วสังคมไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนความรุนแรง
            
           นางสาวเข็มพร  วิรุณราพันธ์  ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า สื่อเป็นปัจจัยแวดล้อมที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อทัศนคติ ค่านิยมของสังคม โดยเฉพาะสื่อละครโทรทัศน์นำเสนอเรื่องราวที่มีพระเอกข่มขืนนางเอกต่อเนื่องมาตลอด เป็นการสร้างค่านิยมที่ทำให้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงเป็นสิ่งชอบธรรมและเห็นเรื่องการข่มขืนเป็นเรื่องธรรมดา ที่พระเอกข่มขืนนางเอกสุดท้ายลงเอยด้วยความรัก จึงเกิดการซึมซับเป็นเรื่องที่ทำได้ สังคมยอมรับและคนจะมองว่า เป็นแค่เรื่องบันเทิงจนเป็นสิ่งที่สร้างค่านิยมและวัฒนธรรม ทัศนคติในสังคมที่ถูกฝังลึกในความคิดของคนทั้งหญิงชาย ซึ่งในความเป็นจริงการกระทำความรุนแรงทางเพศ การข่มขืนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
         
           ผศ.จเร สิงหโกวินท์ อาจารย์ประจำคณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การที่ละครเน้นเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง กล่าวได้ว่าสื่อเป็นตัวสะท้อนว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา เช่น ไม่ชอบความรุนแรงเช่นการเพิ่มโทษการข่มขืนโดยประหาร ทั้งที่การประหารก็เป็นความรุนแรง ท้ายที่สุดก็สนับสนุนความรุนแรง แปลว่าเรายอมรับความรุนแรง
           
           www.change.org มีการรณรงค์ลงชื่อสนับสนุนใช้ชื่อว่า กสทช.และผู้จัดละคร : เลิกเผยแพร่คติการล่อลวงข่มขืนว่าเป็นสิ่งปกติ”” ต่อ กสทช.และผู้จัดละครให้ยกเลิกละครที่มีฉากข่มขืน โดยล่าสุดมีผู้ลงชื่อสนับสนุน 59,375 คน แล้ว

            
           นี่แหละไทยแลนด์ ดินแดนดราม่า เกลียดความรุนแรง แต่ก็เสพความรุนแรงซะเอง

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

Chapter : 7 ความเท่าเทียมในมือไม่เท่ากัน

         

ความเท่าเทียมในมือไม่เท่ากัน
          “การส่งเสริมความสามารถของคนทั้งสองเพศ กฎหมายถือว่าสำคัญ เพราะกฎหมายจะส่งเสริมความเสมอภาคโดยเท่าเทียมกัน คำกล่าวของ หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานที่ได้ร่วมเสวนาในพิธีเปิดวันงานสตรีสากลในปี 2559 นี้
            
            การถูกแบ่งแยกและสร้างกำแพงปิดกั้นเสรีภาพเพียงเพราะเพศสภาพ กลายเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศที่มีมาอย่างยาวนาน และคงยาวไปจนถึงอนาคต
            
            อันที่จริงความไม่เท่าเทียมทางเพศก็ได้รับการแก้ไขทั้งเชิงนโยบายและปฏิบัติจากคนในสังคมอยู่บ่อยครั้ง ทว่าปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ แต่เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกอย่างยากที่จะถอนทิ้ง 
            
            ยกตัวอย่างเช่น การถูกปลูกฝังความเชื่อค่านิยมแบบผิดๆ เช่น ค่านิยมที่ว่า ผู้ชายเป็นใหญ่ในบ้านเพราะเป็นผู้ทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่เลี้ยงดูลูกอยู่บ้าน แม้ในปัจจุบันผู้หญิงเองก็เป็นฝ่ายทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวไม่ต่างผู้ชาย  
            
             จะเห็นได้จากบางอาชีพที่ยังแสดงถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิง-ชาย อย่างอาชีพบริหารในตำแหน่งสูงๆ หรืออาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา และเว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เผยผลสำรวจสัดส่วนนักการเมืองระดับชาติ โดยพบว่าจำนวนของสส. ที่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 16 ในขณะที่เพศชายคิดเป็นร้อยละ 84
            
             ด้วยวัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่แบบไทยๆ นี้เอง ที่นำพาไปสู่การมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอหรือกระทั่งการสั่งสอนผู้หญิงว่า ภรรยาที่ดีต้องเชื่อฟังสามี กลายเป็นกรอบความคิดสำคัญที่สร้างสะพานไปสู่การใช้ความรุนแรงในสตรี
            
             ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในสังคมไทยยังคงสอนผู้หญิงให้รู้จักรักนวลสงวนตัวมากกว่าสอนผู้ชายว่าคนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเท่ากันหมด ไม่ว่าจะมีเพศสภาพที่เหมือนหรือต่างกัน หรือการคอยพร่ำบอกว่าผู้หญิงไม่ควรนุ่งสั้นหรือแต่งตัวล่อแหลม เพราะเมื่อไหร่ที่ผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรงก็จะมีแนวคิดแบบ Blaming the victim โผล่ขึ้นมาว่า เป็นความผิดของผู้หญิงที่ไม่รู้จักดูแลตัวเอง แทนที่จะช่วยกันสอนว่าผู้ชายควรให้เกรียติและไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้หญิง
             
            การแก้ปัญหาความรุนแรงในสตรีนี้ ในส่วนของภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมและจัดการกับปัญหาให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยล่าสุดเครือข่ายสตรีก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญให้มีความเอื้อต่อเพศหญิงมากขึ้นรวมถึงเรียกร้องให้มีการจัดการปัญหาความเสมอภาคทางเพศ
            
            หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการปรับแก้ในส่วนของความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงและได้นำไปใช้จริงในอนาคต ก็คงเป็นความหวังและเกราะป้องกันให้กับผู้หญิงไทยให้มีพื้นที่ในสังคมไม่น้อยกว่าผู้ชายอย่างที่ควรจะเป็นมาตั้งนานแล้ว
           

            

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

Special : การเมืองอะไร ตับไตไส้พุง


            ว่ากันว่าเรื่องของการเมืองกับเศรษฐกิจเป็นของคู่กัน
            
            ตัวอย่างประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ จะมีระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม การผลิตสินค้าในระบบนี้จะขึ้นอยู่กับรัฐบาลซึ่งเป็นผู้กำหนดว่าควรผลิตเท่าไหร่ โดยไม่มีกลไกตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง
            
            ความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจและการเมืองเป็นตัวบ่งบอกความมั่นคงของประเทศอย่างหนึ่ง เพราะถ้าการเมืองดี เศรษฐกิจก็ดีไปด้วย
            
            อย่างกรณีของบ้านเราในตอนที่มีการประกาศกฎอัยการศึก เศรษฐกิจมีการหดตัว 0.6% โดยสาเหตุหลักมาจากการลงทุนที่หดตัวถึง 9.8%  และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ลดลงถึง 3%
            
            ยิ่งในช่วงที่เกิดม๊อบการเมืองมากๆ รายได้จากการท่องเที่ยวก็ต่ำลง ต่างชาติไม่กล้าเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพราะความวุ่นวายไม่สงบในประเทศรวมถึงนักลงทุนต่างชาติเองก็ไม่กล้าเข้ามาลงทุนในบ้านเรา
            
          การท่องเที่ยวไม่ดีเช่นนี้พ่อค้าแม่ค้าก็พาลกันเดือดร้อนเพราะทำมาค้าขายไม่ได้ ของบางอย่างก็ต้องปรับขึ้นราคา ส่งผลไปถึงปากท้องคนไทยที่จะต้องซื้อของกินของใช้ในราคาที่สูงขึ้น
            
            ราคาข้าวของใช้ในประเทศนี้ก็เป็นเหมือนโดมิโน หากมีของอย่างหนึ่งมีการขึ้นราคาก็จะมีของบางประเภทที่จำเป็นต้องขึ้นราคาตามไปด้วย
            
         ราคาข้าวของที่แพงขึ้นนี้ไม่ได้ทำให้เงินเดือนขึ้นตาม หนำซ้ำเศรษฐกิจที่ไม่ดีแบบนี้ก็พาลทำให้อัตราการว่างงานมีเพิ่มมากขึ้น นักศึกษาที่จบงานมาใหม่ๆ ก็มีโอกาสหางานทำได้ยากเพราะอัตราจ้างงานที่น้อยลง
            
            เพราะฉะนั้นการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว เพราะเมื่อระบบการปกครองในประเทศเกิดแย่หรือหยุดชะงัก เศรษฐกิจก็พลอยแย่ลงไปด้วย ส่งผลโดยตรงกับปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน
          
           จะมีความเป็นอยู่ที่ดีหรือไม่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการเมือง

            

Special :คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย

            

           “ไปไหน
            
            “ไปเข้าห้องน้ำ พาไปหน่อย
           
             บทสนทนาประจำของกลุ่มเด็กผู้หญิง (ที่เด็กผู้ชายไม่มีวันเข้าใจ) ฉายภาพการเมืองกับสิ่งรอบตัวได้เป็นอย่างดี
           
            ไม่ใช่ว่าผู้หญิงจะไปเข้าห้องน้ำคนเดียวไม่ได้ แต่ถ้าไปกับเพื่อน มันก็ดีกว่า
            
            นี่แหละ สัตว์สังคม

           มนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัยกัน อารมณ์ประมาณคนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย และเมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม ก็ต้องมีผลประโยชน์ร่วมกัน ที่เห็นกันอยู่ทุกวันก็คือ อาหาร ทรัพยากรต่างๆ ความมั่นคง ความปลอดภัย ฯลฯ ที่มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องมีระบบการจัดสรรผลประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม

            ระบบการจัดสรรผลประโยชน์ที่มีร่วมกันของคนในสังคมนี่แหละ ที่เรียกว่า การเมือง

          ดังนั้น หลายๆ ท่านจึงควรลบภาพประเภท การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง ไม่ใช่เรื่องของเรา ไปเสีย เพราะความจริงแล้ว เรานี่แหละ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเมือง

            เรื่องของการชวนเพื่อนไปเข้าห้องน้ำนับว่าเป็นอีกตัวอย่างของการเมืองในสังคมเล็กๆ ในสังคมมหาลัยคงไม่มีปัญหา แต่ในมัธยมต้องมีสักครั้งที่เพื่อนของคุณน้อยใจจนพาลโกธรที่เราไม่พาไปเข้าห้องน้ำ

            น่าขำ แต่เป็นเรื่องที่สะท้อนการไม่เคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เลือก หรือตัดสินใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และหากเปรียบให้เข้ากับการเมืองปัจจุบันหน่อยก็คงสมมติว่า หากปล่อยให้เกิดการละเมิดเสรีภาพของเราไปเรื่อยๆ เพื่อนคนนี้ก็จะค่อยๆ ขโมยเสรีภาพของเราไปเรื่อยๆ และ ตั้งตนเป็นใหญ่ ปิดรับความคิดเห็นของเพื่อนในกลุ่ม จนเกิดเป็นการเผด็จการในสังคมเล็กในที่สุด

            เรื่องของการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ถึงเราไม่อยากยุ่งกับการเมือง การเมืองก็จะยุ่งกับเราอยู่ดี เพราะการเมืองล้อมเราไว้หมดแล้ว ในขณะที่เราก็ควรจับมือการเมืองไว้ไม่ให้ไปไหน (เพื่อประโยชน์ของเรา)

            นี่แหละมิตรแท้ มนุษย์กับการเมือง


วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

Chapter 6 : เด็กเสพสื่อ


เด็กเสพสื่อ


          เมื่อเนื้อหาที่สื่อส่งมายังคนดูต่างไปจากเดิม
          
          ความรุนแรงที่ส่งมาผ่านเนื้อหาจากสื่อในหลายรูปแบบ เราผู้อยู่ในฐานะผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว ย่อมรับสารนั้นมา แล้วรู้ว่าควรจะจัดการอย่างไรกับสารนั้น เช่น ข่าวจิ้งจกสองหางที่เด่นหราอยู่ตรงหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หัวสีฉบับหนึ่ง เรารับรู้ และเข้าใจได้ว่าเราควรปล่อยผ่านข่าวนี้ไป เพราะข่าวประเภทนี้ ไม่ได้นำประโยชน์อันใดมาให้กับเรา
        
        ทว่า เด็ก ที่อยู่ในคนเสพสื่อนั้น จะสามารถแยกแยะอย่างผู้ใหญ่ได้หรือไม่

        กรมสุขภาพจิต ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ สื่อโทรทัศน์กับการใช้ความรุนแรงในกลุ่มเยาวชน จากกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 94.6 ระบุว่า เคยเห็นหรือดูโทรทัศน์ที่มีภาพการใช้ความรุนแรงผ่านละคร การ์ตูน ภาพยนตร์ ภาพข่าวและโฆษณาบ่อยครั้ง

         เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นต่อความเหมาะสมในการกระทำที่รุนแรงตอบโต้กลับคืนถ้าถูกรังแก หรือถูกทำร้าย กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่ง คือร้อยละ 52 เห็นสมควรตอบโต้กลับคืน ขณะที่เด็กและเยาวชนที่เคยเห็นภาพความรุนแรงในโทรทัศน์บ่อยๆ นิยมใช้ความรุนแรง ตอบโต้แก้แค้นผู้อื่นระดับมากถึงมากที่สุดสูงกว่าเด็กและเยาวชนที่ไม่เคยเห็นบ่อยหรือไม่เคยเห็นเลยร้อยละ 28.6 ต่อร้อยละ 19

         นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า สื่อมีอิทธิพลที่สุดที่จะสะท้อนได้ทั้งด้านดีและด้านลบในเรื่องของความรุนแรง ดังนั้น บทบาทของสื่อไม่ใช่เพียงเป็นแค่กระจกสะท้อนสังคม แต่ควรมีบทบาทเป็นสะพานถ่ายทอดความรู้ถึงผลกระทบของความรุนแรงที่เกิดขึ้น และสื่อควรจะมีบทบาทให้ความรู้ด้วย สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันรายการบางรายการเป็นเรื่องการส่งเสริมความรุนแรงไปซะเอง เช่น การกระโดดตึก การที่เอาภาพเหตุการณ์จริงที่เด็กไล่ยิงกัน มีเสียงหวีดร้องมาออกอากาศ จึงคิดว่าสื่อควรจะมีวิจารณญาณให้มากกว่านี้

         คงไม่มีสื่อแขนงใดอยากให้ตนเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาร้ายแรงหรือส่งเสริมการใช้ความรุนแรงภายในสังคม แต่หากสื่อถอยหลังพิจารณาการทำงานของตนสักนิด ก็คงได้ทบทวนหน้าที่ของตนว่า ท้ายที่สุดแล้ว สื่อคือคนขายข่าวไปวันๆ หรือผู้ที่สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

Chapter 5 : วงกลมของคนและสื่อ


            
           วงกลมของคนและสื่อ

            เมื่อสื่อกลายเป็นกระจกสะท้อนความเสื่อมของสังคม ผ่านภาษาที่ใช้ขายข่าว
            
            สังคมที่ว่า เป็นทั้งสังคมของคนเสพสื่อ และสังคมผลิตสื่อ
          
          ‘9 ขาโจ๋เดนทรชน หื่นกามลวง 2 เหยื่อสาวไปขืนใจสุดวิตถาร ขณะเหยื่อยืนรอรถกลับบ้านกลางดึก เชิงสะพานพระราม 5 ย่านเมืองนนท์ ลากเข้าพงหญ้าจับถอดเสื้อผ้าเรียงคิวข่มขืนเมามัน บังคับให้อมนกเขากับใช้หอยทากเดินไต่บนร่างเหยื่อให้สยิวปลุกเร้าอารมณ์

            หนึ่งในตัวอย่างของการไร้ความรับผิดชอบต่อความเสียหายของเหยื่อผ่านการใช้ภาษา จนคล้ายกับเป็นการทำร้ายเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งที่สื่ออยู่ในสถานะที่ควรรับผิดชอบต่อสังคม

            ความรุนแรงในด้านการใช้ภาษา แม้ไม่มีการเก็บรวบรวมเป็นสถิติ แต่มันช่างเด่นชัดในความรู้สึกของผู้พบเห็น และเกิดเป็นการส่งสารจากผู้ซื้อข่าว กลับไปยังผู้ขายข่าว

            แน่นอนว่าสื่อต้องรู้อยู่แล้วว่ามันผิดทั้งผิดต่อจรรยาบรรณวิชาชีพและยังผิดต่อการรับผิดชอบความรู้สึกของผู้ถูกกระทำในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่สื่อก็ยังขายข่าวในลักษณะเช่นนี้ อาจเพราะยอดไลค์ ยอดแชร์จากคนเสพสื่อที่เป็นการเปิดทางอ้อมๆ ให้สื่อยังทำข่าวบนเส้นทางที่ไร้ความรับผิดชอบต่อไป

           'นี่ไงข่าวมีสาระ พอมีสาระพวกอึงก็ไม่ค่อยเม้น ไม่ค่อยสนใจกัน พอข่าวไร้สาระอย่างอุ้มหอย คอมเมนต์เป็นพัน สนใจกันอิบหาย ผู้ใช้เฟซบุ๊คท่านหนึ่งคอมเมนต์ในเพจข่าวออนไลน์ชื่อดัง

          ในมุมของผู้เขียนคิดว่า ไม่มีมนุษย์คนใด อยากอ่านเรื่องราวที่เจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง แต่การที่สื่อใช้ทั้งภาพและตัวอักษรอย่างรุนแรง เพื่อดึงความสนใจ เรียกยอดไลค์ ยอดแชร์ข่าว ก็คงสะท้อนพฤติกรรมเสพข่าวของคนในสังคมเราได้ไม่น้อย

            พูดตามตรงก็คือ สำหรับคนทำสื่อ ข่าวมีไว้ขาย หากคนไม่สนใจ ข่าวขายไม่ออก สื่อก็อยู่ไม่ได้ นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมการพาดหัว หรือการโปรยข่าวของหนังสือพิมพ์ประเภทหัวสีถึงเป็นไปในทำนองนั้น

            แต่ที่สุด หากหัวข้อนี้กระทบความรู้สึกหรือเป็นกระแสในสังคมว่า ล้ำเส้น หรือ ไม่เหมาะสม จริง สื่อก็จะได้รับฟีดแบ็กกลับไปเหมือนกัน ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะทางออนไลน์ คุณชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี นักข่าว หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจกล่าว

            จะว่าไปความสัมพันธ์ของคนขายข่าวกับคนซื้อข่าวก็ดูเหมือนวงจรกลมๆ ที่หล่อหลอมกันและกัน จนอดคิดไม่ได้ว่า หากทั้งคู่ยังคงมีพฤติกรรมการเสพสื่อและผลิตสื่อเช่นนี้ อนาคตของเยาวชนผู้อยู่ในฐานะ เด็กที่เสพสื่อ จะเป็นเช่นไร