3 ปีซ้อน! สธ.เผย เด็กอายุ 10-15 ปี
เป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศมากที่สุด ระบุผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว
นับเป็นสถิติที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยจากคนใกล้ชิด
ที่ได้รับการยืนยันจากคำสัมภาษณ์ของนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า
ในปี 2558 มีเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรง
2 หมื่นกว่าราย เฉลี่ยวันละ 66 ราย ส่วนใหญ่ถูกทำร้ายร่างกายและถูกกระทำรุนแรงทางเพศจากคนใกล้ชิด
ในกลุ่มเด็กจะถูกล่วงละเมิดทางเพศและตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์มากเป็นอันดับ
1 รองลงมาเป็นการทำร้ายร่างกาย
ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด
เช่น แฟน รองลงมาคือเพื่อน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากสภาพแวดล้อม ได้แก่ สื่อลามก
ความใกล้ชิด โอกาสเอื้ออำนวย และการดื่มสุรา การใช้สารเสพติด เป็นต้น ส่วนความรุนแรงในกลุ่มสตรี
ปัญหาอันดับ 1 ที่พบคือ การทำร้ายร่างกาย รองลงมาคือถูกกระทำทางเพศและตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ผู้กระทำเป็นคู่สมรสมากที่สุด
รองลงมาคือแฟน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากสัมพันธภาพในครอบครัว การนอกใจ หึงหวง
ทะเลาะวิวาทกัน
กรณีที่เป็นตัวอย่างอย่างเด่นชัด คือ กรณีของเด็กหญิงเอ วัย 10 ปี ถูกนายเล็ก
อายุ 61 ปี กระทำชำเราเป็นเวลากว่า 1 เดือน
โดยคนร้ายเปิดร้านขายของชำ และได้ออกอุบายล่อลวงเด็กหญิงเอไปกระทำชำเรา
พร้อมให้เงินครั้งละ 50-100 บาท เป็นค่าปิดปาก รวมถึงข่มขู่ว่าหากนำเรื่องนี้ไปบอกใครจะฆ่าให้ตาย
จนกระทั่งแม่เด็กเห็นว่าเด็กมีพฤติกรรมซึมเศร้า จึงพาเด็กไปแจ้งความ โดยตำรวจได้แจ้งข้อหาพรากเด็กอายุไม่เกิน
15 ปีไปเสียจากบิดา มารดาหรือผู้ปกครอง เพื่อการอนาจาร
หากมองถึงสาเหตุที่เด็กช่วงวัย 10-15 ปี
เป็นผู้เคราะห์ร้ายนี้ เป็นเพราะเด็กเหล่านี้ไม่อาจคำนึงถึงอันตรายจากคนใกล้ตัว
เนื่องจากคิดว่าเป็นคนคุ้นเคยกันจึงเกิดความไว้ใจ และไม่ทันได้ระวังตัว
จนคนที่ไว้ใจมาทำร้ายจิตใจและร่างกายของตน
สาเหตุต่อมา เกิดจากสภาพแวดล้อมในสังคมปัจจุบัน
มีทั้งแหล่งอบายมุข การใช้สาร เสพติด ธุรกิจบริการทางเพศ แรงงานเด็ก
เด็กเร่ร่อน เด็กถูกทอดทิ้ง สื่อลามกอนาจารและสื่อความรุนแรงต่างๆ มีอยู่ทั่วไป
จนเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
สาเหตุสุดท้ายคือ เด็กในช่วงวัยนี้ไม่รู้วิธีแก้ปัญหาเมื่อถูกกระทำความรุนแรง
เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะใช้สิทธิทางกฎหมายในการป้องกันตนเอง
เนื่องจาก กระบวนการในการสอบสวนในชั้นตำรวจ อัยการและการสืบพยานในชั้นศาลไม่เอื้อให้ผู้ถูกกระทำต้องการดำเนินคดี
เพราะรู้สึกเหมือนถูกกระทำซ้ำอีกครั้ง และในบางกรณีผู้กระทำไม่ได้รับโทษ ทำให้เกิดความย่ามใจ
มีการกระทำซ้ำอีกและจะทวีความรุนแรงขึ้น และผู้เสียหายยังไม่ต้องการดำเนินการทางกฎหมาย
เนื่องจากกลัวตกเป็นข่าวในสื่อมวลชนต่างๆ และตกเป็นที่สนใจของคนในสังคม
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
ในการพัฒนาระบบการรับแจ้งเหตุ การคัดกรอง การช่วยเหลือเบื้องต้นและการส่งต่อเด็กถูกทารุณกรรมหรือการเลี้ยงดูไม่เหมาะสมให้ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างครบวงจร
โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นหน่วยประสานงานหลัก นำร่องใน 2 จังหวัดๆละ 2
อำเภอ คือระยองและชุมพร คัดกรองเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา 3 เรื่องคือ ความรุนแรง
ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และการถูกทอดทิ้ง เพื่อวางแผนดูแลร่วมกับสถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สำหรับในปี 2559 ได้ขยายการดำเนินงานไปยังอำเภออื่นๆ
และขยายเพิ่มอีก 2 จังหวัด คือ ขอนแก่นและปทุมธานี
สุดท้าย
แม้ว่าจะมีการแก้ไขจากทั้งหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระต่างๆ
คงไม่อาจช่วยให้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีบรรเทาลงได้
เท่ากับการมีจิตสำนึกความเป็นมนุษย์ของคนในสังคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น